064-645-5091    จันทร์ – อาทิตย์: 9.00 -17.00

กลุ่มจิตบำบัดยาเสพติด Group Therapy

 

การเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มของผู้บำบัดยาเสพติด

เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการอยู่ร่วมกันกับสังคมภายนอกได้

 

    ธรรมชาติของผู้ใช้สารเสพติดหลังจากการใช้สารเสพติดผู้ติดสารเสพติดจะรู้สึกโดดเดี่ยวแยกตัวจากสังคมและเกิดความรู้สึกละอาย ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เกิดมาจากการใช้สารเสพติด การเข้าร่วมกลุ่มบำบัด ผู้บำบัดยาเสพติดจะได้เชื่อมโยงกับเพื่อนร่วมกลุ่มที่ผ่านประสบการณ์คล้าย ๆ กัน ทำให้ผู้บำบัดยาเสพติดไม่รู้สึกว่าไม่ได้เผชิญปัญหาอยู่คนเดียว ผู้บำบัดจะเห็นภาพสะท้อนของตัวเองในตัวของคนอื่นผ่านการทบทวนตัวเอง ผ่านประสบการณ์จากตัวเอง และเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม ผู้บำบัดจะสามารถก้าวผ่านปัญหาต่าง ๆ และเรียนรู้ทักษะ วิธีการการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล รวมถึงวิธีการสื่อสารที่ดีขึ้นนอกจากนี้กลุ่มบำบัดยังช่วยเสริมการบำบัดแบบอื่น ๆ อีกด้วย

 

การบำบัดจิตแบบกลุ่ม (Group Therapy) คืออะไร?

 

     การบำบัดแบบกลุ่ม (Group therapy) คือ รูปแบบหนึ่งของการบำบัดที่นักบำบัดจะนำพาให้ผู้เข้าร่วมบำบัดยาเสพติดได้ดูแลปัญหาผ่านกิจกรรมโดยจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่าหนึ่งคนในเวลาเดียวกัน การบำบัดในลักษณะนี้พบมากในหลากหลายพื้นที่ เช่น ศูนย์บำบัดยาเสพติด พื้นที่พัฒนาสุขภาวะ หรือสถานที่ชุมชน

     จิตบำบัดกลุ่ม (Group Psychotherapy) เป็นการบำบัดทางจิตชนิดหนึ่งในผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรม ด้วยการใช้กระบวนการของกลุ่มที่มีการวางแผนโดยบุคลากรวิชาชีพเฉพาะทางที่ได้รับการศึกษาอบรมมาโดยเฉพาะ มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้ากลุ่มรู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น ยอมรับตนเองและผู้อื่นได้ ตลอดจนสามารถปรับเปลี่ยนความคิด เจตคติ และพฤติกรรม อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ลักษณะของกลุ่ม เป็นการจัดให้ผู้ป่วยมารวมกลุ่มกัน โดยมีผู้บำบัดและบุคคลากรวิชาชีพเข้าร่วมกลุ่มด้วย กระบวนการกลุ่มเน้นการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การให้ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเจตคติ และการแก้ปัญหาที่บกพร่องของผู้ป่วยในกลุ่ม หัวใจหลักของกลุ่มจิตบำบัดก็คือ การให้ผู้ป่วยช่วยกันเองในกลุ่ม

 

ความสำคัญของจิตบำบัดกลุ่ม

 

     มนุษย์เราส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่ผูกพันธ์กับสังคม ต้องมีสัมพันธภาพกับบุคคลในสังคม บุคลิกภาพของมนุษย์นั้นถูกเสริมสร้างขึ้นโดยกลุ่มชนหรือสังคมนั้นๆ ความสุขสบายใจ ความมั่นคง และช่วยกันพัฒนาเสริมสร้างกลุ่มชนนั้น แต่ยังมีบุคคลอีกจำนวนมากที่ขาดความอบอุ่น ขาดความสุข มีความทุกข์ทรมาน ฉะนั้นการบำบัดแบบ Group Psychotherapy ที่เน้นการสอนและฝึกหัดผู้ที่ไม่มีความสุขในกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ให้ได้รับประสบการณ์ให้รู้จักการปรับตัวให้เข้าสิ่งแวดล้อม และหาวิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ความทุกข์นั้นหมดไป

 

วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกลุ่ม

 

        1. สร้างความเชื่อมั่น ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

       2. ผ่อนคลายความเครียด

       3. แก้ไขความคับข้องใจและอุปสรรคในใจของผู้ป่วยในกลุ่ม ซึ่งจะมีส่วนในการร่วมความทุกข์ซึ่งกันและกัน

       4. รู้จักใช้กลไกทางของจิตที่ถูกต้องและเหมาะสม

       5. รู้จักการควบคุมอารมณ์ การแสดงออกพฤติกรรมที่เหมาะสม

       6. รู้จักสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันในกลุ่ม

       7. เพิ่มพูนความภาคภูมิใจในตนเอง

       8. พัฒนาความเข้าใจตนเองให้ถูกต้อง

 

หลักการของกลุ่มจิตบำบัด

 

     ทฤษฎีและการปฏิบัติของกลุ่มจิตบำบัด Irvin D. Yalom ได้ให้หลักการสำคัญในการทำกลุ่มจิตบำบัดไว้ดังนี้

สร้างความหวัง Instillation of Hope : ผู้รับการบำบัดยาเสพติดแต่ละคนแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นความหวังและกำลังใจให้กับผู้รับการบำบัดคนอื่น ๆ ได้ฟัง

ความเป็นสากล Universality : รับรู้ปัญหาของผู้รับการบำบัดยาเสพติดแต่ละคนและสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้เผชิญปัญหาเพียงลำพัง หลาย ๆ คนก็เคยเผชิญปัญหาเช่นเดียวกับพวกเขา

แบ่งปันข้อมูล Imparting of Information : สมาชิกในกลุ่มแชร์ข้อมูลร่วมกัน เพื่อช่วยกันแสดงความคิดเห็นและแก้ปัญหาร่วมกัน

ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น Altruism : สมาชิกในกลุ่มสามารถแบ่งปันจุดแข็งและช่วยผู้อื่นในกลุ่ม ซึ่งจะช่วยเพิ่ม ความภาคภูมิใจและความเชื่อมั่นให้กับตนเอง

บทบาทในครอบครัว Simulation of the primary family : จำลองสถานการณ์บทบาทในครอบครัว เพื่อปรับการสื่อสาร และการแสดงออกต่อกันในครอบครัวให้เหมาะสมเพื่อลดความขัดแย้งและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นภายในครอบครัว

การฝึกทักษะทางสังคม Development of social skills : เรียนรู้การพูดเกี่ยวกับความรู้สึก ความคิดเห็น ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้พบเจอ กับผู้คนในสังคม เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับคนรอบข้าง

เลียนแบบพฤติกรรมที่เหมาะสม Imitative Behavior : เลียนแบบพฤติกรรมที่เหมาะสม หาบุคคลต้นแบบที่จัดการปัญหาต่าง ๆ ได้ดี และฝึกทำตามในแบบที่แต่ละคนถนัด

เรียนรู้จากคนในกลุ่ม Interpersonal Learning (modeling, vicarious learning) : ค้นหาตนเองจากคำแนะนำของคนอื่น ๆ ในกลุ่ม

ความสัมพันธ์กันของคนในกลุ่ม Group Cohesiveness (belonging) : ความไว้ใจเชื่อใจกันของคนในกลุ่มช่วยให้คนในกลุ่มรู้สึกมีที่พึ่งทางจิตใจ

การได้ปลดปล่อยอารมณ์ที่เก็บเอาไว้ Catharsis : เช่น การได้ร้องไห้ ระบายความรู้สึกในใจต่อคนที่เราเชื่อใจช่วยให้อารมณ์ที่ถูกเก็บกดไว้ได้ระบายออกมา

เรียนรู้ที่จะยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น Existential Factors (risk, responsibility) : เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบ หรือรับผลของการกระทำของตนเอง ยอมรับความเสี่ยง ยอมรับในสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น

 

ชนิดของจิตบำบัดกลุ่ม

 

จิตบำบัดกลุ่ม มีหลายชนิด สามารถแบ่งย่อ ๆ ได้ 5 ชนิด ดังนี้

1. Didactic group การทำกลุ่มลักษณะนี้ต้องอาศัยความรู้เป็นหลัก ผู้รักษาในกลุ่ม มีหลักพึงระลึกว่า จะต้องนำเรื่องราวต่าง ๆ มาพูดและชี้แนะผู้ป่วย การบำบัดแบบนี้ผู้ป่วยต้องทำความเข้าใจถึงปัญหาต่าง ๆ ทางอารมณ์ของตัวเอง และสาเหตุการเกิดปัญหานั้น ๆ จึงจะสามารถจะเข้าถึงปัญหาต่าง ๆ ทางอารมณ์ของผู้ป่วยได้เร็วขึ้น การรักษาแบบนี้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชที่มีอาการดีขึ้นพอควร

2. Therapeutic social วิธีการแบบนี้ทำได้โดยที่ผู้ป่วยเลือกผู้แทนของตัวเองขึ้นมา แล้วผู้แทนเหล่านี้มีส่วนช่วยในการที่จะบริหารกิจกรรมต่าง ๆ ในกลุ่มนั้น ๆ ผู้รักษาเป็นเพียงมีส่วนช่วยให้การปรึกษาและเลือกสมาชิกในกลุ่มให้ ความมุ่งหมายในการทำแบบนี้ก็เพื่อจะต้องกำจัดความเคยชิน และความเฉื่อยชาอันมีอยู่ในตัวผู้ป่วยก่อนเข้ามาในโรงพยาบาล ซึ่งส่วนมากไม่มีความกระตือรือร้น ไม่รู้จักตนเอง แยกตัวเอง และไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง วิธีนี้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่ได้จำหน่ายออกจากโรงพยาบาลแล้ว

3. Repreessive interaction group วิธีนี้ได้แก่ การพบปะสนทนากันและทำกิจกรรมร่วมในสิ่งที่มีประโยชน์ เช่น การออกกำลังกายร่วมกัน การรวมกลุ่มกันร้องเพลง รวมกลุ่มกันทำงาน แบบนี้ใช้ได้ทั้งโรคจิต โรคประสาท ติดเหล้า และผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาล

4. Free-interaction group อาจเรียกว่า group-centered คือ การพูดคุยแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างจริงใจทำให้เกิดความเข้าใจตนเองและผู้อื่น

5. Psychodrama (ละครจิตบำบัด) หมายถึง กลุ่มที่ให้ผู้ป่วยแสดงละครโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ป่วยได้ระบายอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และปัญหาออกมาในรูปของการแสดง เพื่อสะท้อนให้ผู้ป่วยที่ร่วมแสดงและมีส่วนร่วมทุกคน เข้าใจปัญหา สภาพการณ์ และพฤติกรรมของตนเองได้ดีขึ้น

 

ประสิทธิภาพของการบำบัดแบบกลุ่ม

 

     การทำกิจกรรมบำบัดแบบกลุ่ม (Group therapy) มีประสิทธิภาพสูงในดูแลและรักษาผู้ป่วยในหลากหลายประเภท และมีรายงานว่าการทำกิจกรรมบำบัดแบบกลุ่มมีประสิทธิภาพมากเท่ากับการรักษาผู้ป่วยแบบรายบุคคล นอกจากนี้กิจกรรมบำบัดแบบกลุ่มยังมีประสิทธิภาพในการดูแลโรคซึมเศร้าอีกด้วย จากรายงานปี 2014 นักวิจัยพบว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดแบบกลุ่มเกือบครึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และจากรายงานของ American Psychological Association's Monitor on Psychology พบว่านอกจากโรคซึมเศร้าแล้ว การบำบัดการบำบัดแบบกลุ่มมีประสิทธิภาพสูงกับสภาวะนอกอื่น ๆ ได้เช่นเช่น โรคแพนิค (panic disorder), ไบโพลาร์ (bipolar), ภาวะกลัวสังคม (social phobia), การติดสารเสพติด เป็นต้น

ศูนย์บำบัดยาเสพติด day one rehab center ได้นำการทำจิตบำบัดแบบกลุ่มมาปรับใช้ในการบำบัดผู้ติดสารเสพติด ทำให้ผู้รับการบำบัดยาเสพติดแต่ละคนให้แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนปัญหาที่แต่ละคนได้เผชิญ ผู้ที่เผชิญปัญหาที่คล้ายคลึงกันจะเข้าใจกัน คนที่เคยก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้แบ่งปันประสบการณ์เป็นตัวอย่าง เป็นกำลังใจให้ผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นบำบัดยาเสพติด ทำให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาอาการติดยาเสพติดมีต้นแบบที่ดีในการใช้ชีวิต รับรู้ว่าตนเองเป็นที่ยอมรับของสังคม เมื่อกระทำสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้น ผ่านการทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกับสังคมในสถานบำบัด เพื่อน เจ้าหน้าที่ ครอบครัว นักจิตบำบัด ฯลฯ และกิจกรรมร่วมกับสังคมภายนอกอื่น ๆ เพื่อช่วยลดความเครียดให้กับผู้บำบัดตามความเหมาะสม ร่วมกับการเสริมสร้างแรงจูงใจจากนักบำบัดยาเสพติดผ่านโปรแกรมที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง เช่น โรคสมองติดยา ทักษะการปฏิเสธการใช้สารเสพติด วิธีจัดการกับตัวกระตุ้น วิธีจัดการกับความคิด ความอยาก หลัก 12 ขั้นตอน (12 Step Programs) การป้องกันการกลับมาเสพซ้ำ เป็นต้น ซึ่งการบำบัดแบบกลุ่มจิตบำบัดยาเสพติด จะช่วยให้ผู้เข้าบำบัดยาเสพติด สามารถประสบความสำเร็จในการบำบัดอาการติดยาได้ในที่สุด โดยไม่ต้องทรมานจากการถอนพิษยาเสพติด ซึ่งสถานบำบัดยาเสพติดได้เน้นการบำบัดและฟื้นฟูมากกว่าการใช้ยา มองเห็นความสำคัญของการบำบัดที่เปลี่ยนแปลงความคิดที่จะส่งผลอย่างมากที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการแสดงออกในด้านต่าง ๆ หากผู้บำบัดสามารถปรับเปลี่ยนความคิด และทัศนคติที่ผู้มีต่อตนเอง จะทำให้การบำบัดอาการติดยามีความยั่งยืน และช่วยให้ผู้บำบัดจะไม่กลับไปสู่วงจรการใช้ยาเสพติดซ้ำอีก