064-645-5091    จันทร์ – อาทิตย์: 9.00 -17.00

บำบัดยาเสพติด ด้วยศิลปะบำบัด (Art Therapy)

 

การนำศิลปะบำบัดมาประยุกษ์ใช้ให้เหมาะสมกับผู้เข้าบำบัดยาเสพติดที่มีความหลากหลาย

โดยผู้เชี่ยวชาญในสถานบำบัดยาเสพติด

 

          ศิลปะบำบัด (Art Therapy) คืออะไร ?

           ศิลปะบำบัด เป็นศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1940 โดยเริ่มจากศิลปินคนหนึ่งที่ใช้เวลาในการพักรักษาตัวจากอาการ  ป่วยเป็นวัณโรคจากสถานพยาบาลเล็กๆ แห่งหนึ่งทางตอนใต้ของอังกฤษ เขาเริ่มวาดรูปและพบว่าการวาดรูปช่วยให้อาการป่วยดีขึ้น จึงชวนให้คนป่วยอื่นๆ หันมาใช้เวลาว่างในการวาดรูป  หลังจากนั้นพัฒนาการของวิชาชีพนักศิลปะบำบัด เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งทางฝั่งยุโรป และ สหรัฐอเมริกา ศาสตร์ศิลปะบำบัดทั้งสองภูมิภาคต่างก็ค่อยๆพัฒนาและแพร่หลายขึ้น

ตัวอย่างของเส้นทางที่ศิลปะบำบัดที่ได้เติบโตในสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นไปในสองเส้นทางพร้อมๆกัน นั่นคือ

1) Art as Therapy หรือ ศิลปะเพื่อการบำบัด  และ

2) Art Psychotherapy หรือ การบำบัดเยียวยาจิตใจด้วยศิลปะ

            ทั้งสองหลักการนี้แพร่หลายในการนิยาม ถึงศิลปะบำบัด และกลายมาเป็นสูตรที่พอดีกับการกล่าวถึงศาสตร์นี้ รวมทั้งการที่นักศิลปะบำบัด จะให้ความหมายกับวิชาชีพของตน มากว่า 40 ปี

 

            ศิลปะบำบัดเป็นศาสตร์ที่ช่วยปรับสมดุลและเยียวยาภายในจิตใจ ให้ผู้รับการบำบัดกลับมาสู่โลกในภาวะปกติ หรือภาวะที่กลับคืนสู่ความเป็นตัวของตัวเอง  การเสียสมดุลในชีวิตเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย และมาจากหลาย สาเหตุที่แตกต่างกัน จนทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตแย่ลง เช่น เกิดภาวะความเครียด  ความกดดัน ความก้าวร้าว หรืออาการเจ็บป่วยบางอย่าง เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย  หรือติดยาเสพติด เป็นต้น ศิลปะบำบัดบางแนวทางมุ่งเน้นให้ผู้รับการบำบัดแสดงออกผ่านสื่อศิลปะอย่างสร้างสรรค์ บางแนวทางนำความรู้ด้านจิตวิทยาเข้ามาผสมผสาน บางแนวทางใช้การวิเคราะห์สิ่งที่ปรากฏในภาพของผู้รับการบำบัดร่วมด้วย ซึ่งศิลปะบำบัดทุกแนวทางจะช่วยให้ผู้รับการบำบัดได้สำรวจภายในจิตใจของตนเอง เปิดเผยตัวตนและสื่อสารผ่านงานศิลปะอย่างเป็นอิสระ กระบวนการบำบัดช่วยให้ความเครียด ความเศร้า หรือความเจ็บปวดบรรเทาลง เกิดความเข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง การเติบโตทางความคิด และก่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาภายในตนเองอีกด้วย

 

          หลักการของศิลปะบำบัด

            ผู้ที่เข้าบำบัดไม่จำเป็นจะต้องมีทักษะในการวาดรูปหรือการทำงานศิลปะก็สามารถเข้ารับการบำบัดได้ เพราะหัวใจของศิลปะบำบัดคือ การมุ่งเน้นมุ่งเน้นที่กระบวนการ (Process) หาความสัมพันธ์ ปัญหา โดยจะถูกถ่ายทอดออกมาผ่านทางงานศิลปะ หรือเรียกว่าใช้ศิลปะเป็นตัวกระตุ้นให้ได้ถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาออกมา ซึ่งมีศิลปะหลายแขนง ยกตัวอย่างได้ดังนี้

  • จิตรกรรม       

  • การวาดภาพ

  • วาดภาพด้วยนิ้ว

  • ระบายสี

  • งานปั้น

  • แกะสลัก

  • การถัก

  • การทอ

  • การประดิษฐ์

  • ฯลฯ

            กิจกรรมเหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของนักบำบัด ศิลปะบำบัดมีรูปแบบแตกต่างกันไปในผู้รับการบำบัดแต่ละคนที่มีสภาพปัญหาแตกต่างกัน เทคนิคที่ใช้ เช่น ปั้นดิน วาดภาพ ระบายสี ถักทอ ฯลฯ โดยนักศิลปะบำบัดจะพิจารณาเลือกใช้เทคนิคที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล จะคอยทำการสังเกต และถามถึงศิลปะที่พวกเขาแสดงออกมาเพื่อถกกันถึงปัญหา คลายปมที่เกิดขึ้นเพื่อทำการบำบัดสุขภาพจิตของผู้เข้ารับการบำบัด

            การบำบัดด้วยศิลปะ เป็นรูปแบบการบำบัดที่เป็นประโยชน์มาก เมื่อใช้ร่วมกับการบำบัดที่เน้นการแก้ปัญหา ศิลปะบำบัดนั้นช่วยให้ผู้ป่วยเปลี่ยนรูปแบบการคิด พฤติกรรม นอกจากนี้ศิลปะบำบัดยังช่วยสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง มีสติ ศิลปะบำบัดเป็นการบำบัดแบบบูรณาการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ร่วมกับการรักษาสุขภาพจิตแบบดั้งเดิมอื่น ๆ

 

          ศิลปะบำบัดพัฒนาความคิดสร้างสรรค์

            ความคิดสร้างสรรค์คือลักษณะของความคิดที่มีหลายมิติ หลายมุมมอง หลายทิศทาง สามารถคิดได้กว้างไกล ไร้กรอบ ไร้ขอบเขต ประกอบด้วย ความคิดริเริ่ม ความคล่องแคล่ว ความยืดหยุ่น และความละเอียดลออ นำไปสู่การคิด ประดิษฐ์ สิ่งแปลกใหม่ และบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้มาจาก ประสบการณ์เดิม เชื่อมโยงกับ สถานการณ์ใหม่ สร้างเป็น องค์ความรู้ใหม่ และเกิดนวัตกรรมตามมา

            ศิลปะสามารถช่วยเพิ่มองค์ประกอบต่างๆ ของความคิดสร้างสรรค์ ทั้ง 4 ด้านดังนี้

            1. ความคิดริเริ่ม (Originality) ช่วยให้มีความคิดแปลกใหม่เกิดการนำความรู้เดิมมาคิดดัดแปลง และประยุกต์ให้เกิดเป็นสิ่งใหม่

            2. ความคล่องแคล่ว (Fluency) ช่วยให้มีความคิดที่ไม่ซ้ำในเรื่องเดียวกันไม่หมกมุ่น คิดวกวน สามารถ คิดได้รวดเร็ว นำมาซึ่ง การพูดที่คล่องแคล่ว และการกระทำที่รวดเร็ว

            3. ความยืดหยุ่น (Flexibility) ช่วยให้คิดได้หลากหลายมุมมองไม่ซ้ำรูปแบบหรือกรอบคิด แบบเดิม ไม่ยึดติด สามารถเห็นประโยชน์ของสิ่งของอย่างหนึ่งว่า มีอะไรบ้าง ได้หลายอย่าง

            4. ความละเอียดลออ (Elaboration) ช่วยให้มีความพิถีพิถันในการตกแต่งรายละเอียด ช่างสังเกต ในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น หรือมองข้าม

 

          ศิลปะบำบัดพัฒนาอารมณ์

            การนำศิลปะมาใช้ในการพัฒนาอารมณ์ จะช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ และจิตใจ ได้ระบายปัญหา ความคับข้องใจ ความรู้สึกที่ซ่อนเร้นในใจ ผ่านออกมาทางงานศิลปะ ระบายอารมณ์ออกมาในหนทางที่สร้างสรรค์ ผ่านการวาดรูป ระบายสี การปั้น และกระบวนการอื่นๆ ทางศิลปะ ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความขุ่นมัวในจิตใจ เข้าใจและรับรู้อารมณ์ต่างๆของตนเอง ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจ สามารถยับยั้งและควบคุมได้ดีขึ้น มีสมาธิ ลดความตึงเครียด และความวิตกกังวลลงได้ในที่สุด

 

          ศิลปะเสริมสร้างทักษะสังคม

            ศิลปะช่วยให้เรียนรู้ทักษะสังคมผ่านการทำกิจกรรมศิลปะร่วมกันเป็นกลุ่ม รู้จักการรอคอย ผลัดกันทำ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังเรียนรู้ที่จะแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความต้องการของตนเอง และการเข้าใจผู้อื่น โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อ

 

          ศิลปะบำบัดพัฒนากล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว

            ศิลปะตอบสนองการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างอิสระ และเป็นธรรมชาติตามระดับพัฒนาการของเด็ก ทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาของกล้ามเนื้อ และการประสานงานการเคลื่อนไหวของร่างกาย สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบจนบรรลุเป้าหมายงานที่กำหนดไว้ได้

 

          ศิลปะบำบัดกับผู้บำบัดยาเสพติด

            ซึ่งการติดสารเสพติดมีความสัมพันธ์ และเกี่ยวข้องกับเห็นคุณค่าในตนเอง จากการศึกษาต่างๆ พบว่า ผู้ติดสารเสพติดจะมีสภาพจิตใจที่ อ่อนแอไม่มีความมั่นใจในตนเองมีความกังวลต่อการไม่ได้รับการยอมรับ ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ และการมองเห็นคุณค่าในตนเองอยู่ระดับที่ต่ำ ซึ่งการเห็นคุณค่าในตนเองนั้นเป็นปัจจัยสำคัญต่อการปรับตัว ซึ่งหากมีการปรับตัวที่ดี ความคับข้อง และความขัดแย้งในจิตใจจนทำให้เกิดปัญหาและหันไปใช้สารเสพติดก็จะเกิดขึ้นได้ยาก นอกจากนี้การเห็นคุณค่าในตนเองยังเป็นปัจจัยส่วนที่เข้มแข็งในการเลิกใช้สารเสพติดได้ การบำบัดเยียวยาผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติด จะมีการใช้วิธีการทางจิตบำบัดหรือกิจกรรมกลุ่มต่าง ๆ ที่หลากหลาย ซึ่งศิลปะบำบัดก็เป็นการบำบัดอีกทางเลือกหนึ่ง การใช้ในผู้บำบัดยาเสพติด ศิลปะบำบัดมีแนวคิดว่าผู้ปฏิบัติจะได้เป็นอิสระในความคิด กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์สร้างผ่านผลงาน หรือแม้แต่ระบายสิ่งที่ไม่สามารถบรรยายออกมาโดยการทำผ่านการสื่อสารอื่นๆ ซึ่งเป็นการแสดงออกความคิดความรู้สึก ตัวตน ความคิด ถ่ายทอดลงมาผ่านงานศิลปะ ซึ่งผู้ที่บำบัดยาเสพติดนั้นอาจเข้าใจในงานของตนเพียงคนเดียวก็เป็นได้ทำให้เกิดความภาคภูมิในผลงานที่สร้างขึ้นมา นำมาซึ่งความภาคภูมิใจในตนเองเพราะการเห็นคุณในตนเองนั้นเป็นการแสดงออกในทัศนะคติที่มีต่อตนเองในด้านต่างๆ ประกอบด้วย ด้านความสามารถ เช่น ความสามารถในการสื่อสาร การสร้างสัมพันธภาพกับคนอื่น รวมทั้งความสามารถทางศิลปะ ด้านความสำคัญ ด้านการมีคุณค่า และด้านการประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งจากด้านต่าง ๆ ตามที่กล่าวถึงเมื่อมีการสร้างงานศิลปะขึ้น บุคคลก็จะมองเห็นความสามารถ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากงานศิลปะ และศิลปะยังมีส่วนทำให้เกิดความสุขความพึงพอใจศิลปะมาแทนความสขจากการใช้ยาเสพติด

            ดังนั้นทาง Day one rehab center ศูนย์บำบัดยาเสพติด จึงได้เห็นความสำคัญของการฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติดโดยการนำศิลปะบำบัดมาประยุกษ์ใช้ให้เหมาะสมกับผู้เข้าบำบัดยาเสพติดที่มีความหลากหลาย ผ่านการบำบัดฟื้นฟูโดยผู้เชี่ยวชาญในสถานบำบัดยาเสพติด ทำให้ผู้บำบัดยาเสพติดสามารถเกิดการฟื้นฟูสมรรถภาพที่ดี ที่เหมาะสม เพิ่มการเห็นคุณค่าในตนเอง ไม่กลับไปอยู่ในวงจรเดิม และสามารถกลับไปอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

            ผลของศิลปะบำบัดต่อการเห็นคุณค่าในตนเองของผู้ติดสารเสพติดชาย สถาบันธัญญารักษ์ : รัฐ ลอยสงเคราะห์*